สงครามตีเมืองทวายครั้งที่หนึ่ง พ.ศ. 2330 ของ สงครามตีเมืองทวาย

สงครามตีเมืองทวายครั้งที่หนึ่ง พ.ศ. 2330
เป็นส่วนหนึ่งของ สงครามตีเมืองทวาย
วันที่มกราคม - มีนาคม พ.ศ. 2331
สถานที่เทือกเขาตะนาวศรี เมืองทวาย
ผลลัพธ์สยามถอยทัพกลับ
คู่ขัดแย้ง
อาณาจักรพม่า อาณาจักรรัตนโกสินทร์
ผู้บัญชาการหรือผู้นำ
พระเจ้าปดุง
แกงหวุ่นแมงยี
แมงจันจา
ทวายหวุ่น
นัดมิแลง
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก

สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร
สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์
เจ้าพระยารัตนาพิพิธ (สน สนธิรัตน์)
เจ้าพระยามหาเสนา (ปลี)
พระยายมราช (บุนนาค)

กำลัง
มากกว่า 6,00020,000

เหตุการณ์นำ

หลังจากที่ฝ่ายสยามสามารถต้านทานการรุกรานของพม่าได้ในสงครามเก้าทัพและสงครามท่าดินแดง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯและกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทมีพระราชดำริ[3]ที่ยกจัดทัพยกเข้าไปในดินแดนของพม่า แต่ในพ.ศ. 2330 พระเจ้าปดุงมีพระราชโองการให้โปมะยุง่วนหรืออาประกามนีเจ้าเมืองเชียงแสนยกทัพเข้ายึดเมืองฝางและเตรียมการเข้าโจมตีหัวเมืองล้านนา พระยาแพร่ชื่อมังไชยยกทัพเข้าโจมตีเมืองเชียงแสน จับกุมตัวโปมะยุง่วนส่งให้แก่พระยากาวิละเจ้าเมืองลำปาง พระยากาวิละจึงนำทั้งโปมะยุง่วนเจ้าเมืองเชียงแสนและพระยาแพร่มังไชยส่งลงมาถวายที่กรุงเทพฯ โปมะยุง่วนให้การว่าฝ่ายพม่ากำลังเตรียมทัพเข้ารุกรานเมืองลำปางและหัวเมืองล้านนาอีกครั้ง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯจึงมีพระราชโองการให้กรมพระราชวังบวรฯเสด็จขึ้นเหนือแต่งตั้งพระยากาวิละเป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่และฟื้นฟูเมืองเชียงใหม่ขึ้นอีกครั้ง หลังจากที่เป็นเมืองร้างมาตั้งแต่พ.ศ. 2319 เพื่อป้องกันทัพของพม่าที่จะมาจากเชียงแสน

การจัดเตรียมทัพฝ่ายไทย

ในเดือนมกราคมพ.ศ. 2331 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯมีพระราชโองการให้จัดทัพเข้ายกไปโจมตีเมืองทวาย โดยยกทัพจากกาญจนบุรีเข้าโจมตีเมืองทวายโดยตรงผ่านทางด่านวังปอ (ทางตำบลปิล็อก อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี) ซึ่งเป็นเส้นทางภูเขาสูงชัน ผ่านเมืองกะเลอ่าวง์ (Kaleinaung) หรือเมืองกลิอ่องแล้วเข้าเมืองทวาย กองกำลังฝ่ายไทยมีจำนวนทั้งสิ้น 20,000 คน ประกอบด้วย;[4]

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯเสด็จยกทัพออกจากกรุงเทพฯทางชลมารค เมื่อยกทัพเสด็จมาถึงยังท่าตะกั่ว ริมแม่น้ำแควน้อย จึงเสด็จยกทัพขึ้นบกตั้งทัพหลวงที่ท่าตะกั่ว และมีพระราชโองการให้เจ้าพระยารัตนาพิพิธ (สน) เจ้าพระยามหาเสนา (ปลี) และพระยายมราช (บุนนาค) ยกทัพหน้าจำนวน 10,000 คน ล่วงหน้าไปก่อนไปทางด่านวังปอ จากนั้นจึงเสด็จยกทัพหลวงตามไป

การจัดเตรียมทัพฝ่ายพม่า

กองทัพพม่าที่ยกเข้ามารุกรานแหลมมลายูและภาคใต้ของไทยตั้งแต่สงครามเก้าทัพ ถึงพ.ศ. 2330 ยังคงปักหลักอยู่ที่เมืองทวาย[4] มีแม่ทัพใหญ่คือแกงหวุ่นแมงยี พระเจ้าปดุงทรงแต่งตั้งแมงจันจาให้มาเป็นเจ้าเมืองทวายคนใหม่ แทนที่เจ้าเมืองทวายคนเดิมชื่อว่าทวายหวุ่น เมื่อฝ่ายพม่าเมืองทวายทราบว่าฝ่ายไทยกำลังยกทัพข้ามมาทางด่านวังปอ แกงหวุ่นแมงยีจึงมีหนังสือไปทูลพระเจ้าปดุงเรื่องข่าวทัพไทย และมีคำสั่งให้จัดเตรียมทัพตั้งรับทัพไทย;

  • นัดมิแลง แม่ทัพพม่า ตั้งรับทัพของฝ่ายไทยที่ด่านวังปอ จำนวน 3,000 คน
  • ทัพพม่าจำนวน 1,000 คน ตั้งรับทัพฝ่ายไทยที่เมืองกลิอ่อง
  • ทวายหวุ่น เจ้าเมืองทวายคนก่อน ตั้งรับทัพฝ่ายที่ ที่ทุ่งระหว่างเมืองกลิอ่องและเมืองทวาย จำนวน 2,000 คน
  • แกงหวุ่นแมงยี และแมงจันจาเจ้าเมืองทวาย อยู่รักษาเมืองทวาย

การรบ

การรบที่ด่านวังปอ

ทัพหน้าของเจ้าพระยารัตนาพิพิธ (สน) เจ้าพระยามหาเสนา (ปลี) และพระยายมราช (บุนนาค) ยกทัพข้ามผ่านเทือกเขาตะนาวศรี ให้พระยาสุรเสนาและพระยามหาอำมาตย์นำทัพหน้าจำนวน 5,000 คน ล่วงหน้าไปก่อน เข้าโจมตีทัพของนัดมิแลงที่ด่านวังปอในวันศุกร์ ขึ้น 9 ค่ำ เดือนสาม (กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2331)[4] พระเสนานนท์นำทัพฝ่ายไทยเข้าโจมตีฝ่ายพม่าก่อน พระเสนานนท์ถูกปืนของฝ่ายพม่าที่ขาซ้าย พระมหาอำมาตย์จึงยกทัพเข้าโจมตีฝ่ายพม่า ฝ่ายพม่าสามารถต้านทานได้พระยามหาอำมาตย์ถอยกลับออกมา พระยาสุรเสนาและพระยาสมบัติบาลถูกปืนของพม่าเสียชีวิตในที่รบ การรบที่ด่านวังปอกินเวลาร่วมสองสัปดาห์ จนกระทั่งเจ้าพระยารัตนาพิพิธและเจ้าพระยามหาเสนาจึงยกทัพเข้าช่วยกองหน้าของพระยามหาอำมาตย์ในวันแรม 10 ค่ำ เดือนสาม นัดมิแลงแม่ทัพพม่าไม่สามารถต้านการฝ่ายไทยได้อีกต่อไปถึงพ่ายแพ่ถอยร่นไปยังเมืองกลิอ่อง เจ้าพระยารัตนาพิพิธและเจ้าพระยามหาเสนาจึงเข้ายึดด่านวังปอได้สำเร็จแล้วส่งม้าเร็วมากราบทูลฯที่ทัพหลวง

หลังจากยึดด่านวังปอได้แล้ว เจ้าพระยารัตนาพิพิธและเจ้าพระยามหาเสนายกทัพหน้าลงไปยังเมืองกลิอ่อง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯจึงเสด็จยกทัพหลวงขึ้นตามไปยังด่านวังปอ เส้นทางข้ามเทือกเขาตะนาวศรีที่ด่านวังปอเป็นเส้นทางที่สูงชันและกันดาร การยกทัพหลวงข้ามด่านวังปอเป็นไปด้วยความยากลำบาก จะทรงช้างที่นั่งขึ้นไปไม่ได้ ต้องผูกราวตามต้นไม้แล้วพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯเสด็จพระราชดำเนินด้วยพระบาท[3][4]ยึดราวเหนี่ยวพระองค์ขึ้นไปแต่เช้าจนเที่ยงจึงถึงยอดเขา บรรดาช้างศึกต้องใช้งวงดึงตัวเองขึ้นเขาไป ช้างบางเชือกพลัดตกจากเขาพร้อมกับควาญช้างถึงแก่ความตาย อุปกรณ์สรรพาวุธต้องนำลงจากหลังช้างและใช้กำลังคนแบกขึ้นเขาไป พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯจึงตรัสว่า "ไม่รู้ว่าทางนี้เดินยากพาลูกหลานมาได้ความลำบากยิ่งนัก"[4] การเสด็จนำทัพลงเขาอีกฝั่งหนึ่งนั้นก็เป็นไปในลักษณะเดียวกัน

การรบที่เมืองกลิอ่อง

เจ้าพระยารัตนาพิพิธและเจ้าพระยามหาเสนายกทัพลงไปจนถึงเมืองกลิอ่อง เมื่อทัพหลวงเสด็จถึงด่านวังปอแล้ว จึงมีพระราชโองการให้เจ้าพระยารัตนาพิพิธและเจ้าพระยามหาเสนาเร่งโจมตียึดเมืองกลิอ่องให้ได้โดยเร็ว เจ้าพระยารัตนาพิพิธและเจ้าพระยามหาเสนาจึงยกทัพเข้าตีเมืองกลิอ่องในวันขึ้น 2 ค่ำ เดือนสี่ (มีนาคม พ.ศ. 2331) นำไปสู่การรบที่เมืองกลิอ่อง ทวายหวุ่นและนัดมิแลงซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองกลิอ่องออกสู้รบกับฝ่ายไทย การรบดำเนินตั้งแต่เช้าจนกลางคืน ทวายหวุ่นและนัดมิแลงไม่อาจต้านทานฝ่ายไทยได้อีกต่อไปจึงเปิดประตูเมืองด้านหลังถอยทัพกลับไปยังเมืองทวาย เจ้าพระยารัตนาพิพิธและเจ้าพระยามหาเสนาจึงเข้ายึดเมืองกลิอ่องได้สำเร็จอีกเมืองหนึ่ง

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯมีพระราชโองการให้เจ้าพระยารัตนาพิพิธและเจ้าพระยามหาเสนายกทัพไปโจมตีทัพของทวายหวุ่นที่ทุ่งระหว่างเมืองกลิอ่องและเมืองทวายให้แตกพ่ายในหนึ่งวัน ทวายหวุ่นได้ตั้งค่ายชักปีกกาไว้ก่อนแล้ว ฝ่ายพม่าปราชัยและถอยกลับเข้าไปยังเมืองทวาย แกงหวุ่นแมงยีและแมงจันจาเจ้าเมืองทวาย เกรงว่าชาวเมืองทวายจะกบฏหันไปเข้าไปฝ่ายไทย[3] จึงละทิ้งเมืองทวายไปตั้งทัพอยู่นอกเมืองให้ทัพฝ่ายไทยเข้ายึดเมืองทวายได้โดยง่าย ฝ่ายทัพของเจ้าพระยารัตนาพิพิธและเจ้าพระยามหาเสนาเข้าประชิดเมืองทวายวันที่แรม 9 ค่ำเดือนสี่ ไม่เห็นมีทหารพม่าขึ้นประจำการที่เชิงเทินป้อมปราการของเมือง เกรงว่าจะเป็นอุบายของฝ่ายพม่า[4]ที่ให้ฝ่ายไทยเข้ายึดเมืองทวายแล้วฝ่ายพม่าจึงล้อมเมืองทวายอีกทีหนึ่ง จึงยังไม่เข้ายึดเมืองทวายแต่ตั้งทัพอยู่นอกเมืองเช่นกัน ฝ่ายแกงหวุ่นแมงยีและแมงจันจาเห็นว่าฝ่ายไทยไม่เข้ายึดเมืองทวายและชาวเมืองทวายยังไม่ไปเข้าพวกฝ่ายไทย จึงยกทัพกลับเข้ารักษาเมืองทวายอีกครั้ง

การประชิดเมืองทวาย

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯเสด็จยกทัพจากด่านวังปอผ่านเมืองกลิอ่องเข้าประชิดเมืองทวาย ทรงตั้งค่ายห่างจากทัพหน้าของเจ้าพระยารัตนาพิพิธและเจ้าพระยามหาเสนาประมาณ 50 เส้น[4] แล้วมีพระราชโองการให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทรยกทัพส่วนหนึ่งไปตั้งค่ายอยู่หน้าทัพหลวงเพื่อหนุนทัพหน้า นำไปสู่การประชิดเมืองทวาย แกงหวุ่นแมงยีและแมงจันจาตั้งมั่นอยู่ในเมืองทวายไม่ออกมาสู้รบ ฝ่ายไทยประชิดเมืองทวายอยู่เป็นเวลาประมาณครึ่งเดือน[3] เสบียงอาหารซึ่งขนมาอย่างยากลำบากข้ามเทือกเขาตะนาวศรีเริ่มลดลง มีผู้ทูลอาสาขอยกทัพเข้าตีเมืองทวายหลายคน แต่ทรงห้ามไว้เนื่องจากขณะนั้นฝ่ายสยามยังไม่มีเส้นทางถอยทัพที่สะดวก หากพ่ายแพ้ให้แก่ฝ่ายพม่าและฝ่ายพม่ายกทัพติดตามมา ศึกจะมาประชิดทัพหลวงและถอยทัพกลับโดยลำบาก[4]

หลังจากที่ทรงประชิดเมืองทวายเป็นเวลาประมาณครึ่งเดือน ฝ่ายพม่ายังไม่ยอมแพ้ เสบียงอาหารลดลง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯจึงทรงตัดสินพระทัยให้เลิกทัพถอยกลับทางคะมองส่วย ให้ทัพหลวงถอยก่อนจากนั้นทัพหน้าจึงรั้งถอยตามมาทีหลัง ฝ่ายพม่ายกทัพติดตามมาจนถึงสุดเขตแดนเมืองทวายถึงกลับเมืองทวายไป ฝ่ายกรมพระราชวังบวรฯเมื่อเสด็จกลับจากราชการทางหัวเมืองล้านนาแล้ว ทรงทราบว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯเสด็จยกทัพไปตีเมืองทวายจึงเสด็จพระราชดำเนินทางชลมารคมามารับเสด็จถึงที่แม่น้ำแควน้อย[4]

บทสรุป

สงครามตีเมืองทวายในพ.ศ. 2331 ไม่ประสบผลสำเร็จ เส้นทางเดินทัพของฝ่ายไทยผ่านด่านวังปอข้ามเทือกเขาตะนาวศรีแม้จะตัดเข้าเมืองทวายโดยตรงมากกว่าเส้นทางด่านบ้องตี้[3] แต่เป็นเส้นทางที่สูงชันและยากลำบาก ทำให้การขนส่งเสบียงยุทโธปกรณ์เป็นไปด้วยความลำบาก และทำให้ฝ่ายสยามไม่สามารถใช้เส้นทางนี้เป็นช่องทางถอยทัพได้โดยสะดวก

ใกล้เคียง

สงครามโลกครั้งที่สอง สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง สงครามเวียดนาม สงครามกลางเมืองอเมริกา สงครามเกาหลี สงครามรัสเซีย–ญี่ปุ่น สงครามเย็น สงครามจีน–ญี่ปุ่นครั้งที่สอง สงครามแปซิฟิก สงครามอ่าว